ชิปปิ้งคืออะไร

ชิปปิ้งคืออะไร นำเข้าส่งออก ต้องใช้ชิปปิ้งหรือไม่

ทำความรู้จักชิปปิ้ง ชิปปิ้งหมายถึงใคร ทำหน้าที่อะไรบ้าง ภาษาที่เป็นทางการสำหรับคำว่าชิปปิ้งคือ ตัวแทนออกของ โดยชิปปิ้งหรือตัวแทนออกของที่ถูกต้องจะเป็นผู้ที่ลงทะเบียนกับกรมศุลกากรและได้รับมอบอำนาจจากผู้นำเข้า ส่งออก ให้ทำหน้าที่แทนในการดำเนินการส่วนที่เกี่ยวข้องกับกรมศุลกากร เช่น เสียค่าภาษี รับของที่นำเข้าหรือ ส่งของออก

ต้องเป็นผู้มีความรู้ด้านศุลกากร และปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ ขั้นตอน วิธีการที่กรมศุลกากรกำหนดไว้ได้อย่างถูกต้อง ซึ่งเรียกว่า การปฏิบัติพิธีการศุลกากร

ชิปปิ้งหรือตัวแทนออกของมี 2 ประเภทคือ

  • นิติบุคคล
  • บุคคลธรรมดา

คุณสมบัติของผู้ที่จะเป็นชิปปิ้งหรือตัวแทนออกของที่ถูกต้อง

นิติบุคคล ต้องเป็นนิติบุคคลที่จดทะเบียนในประเทศไทย และมีคุณสมบัติ ดังนี้

  • เป็นสมาชิกของสมาคมตัวแทนออกหรือชิปปิ้งที่กรมศุลกากรรับรอง
  • ไม่มีประวัติทำผิดตามกฎหมายศุลกากรอย่างร้ายแรงหรือถูกถอนการอนุญาต
  • ต้องมีผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวกับการออกของ มีคุณสมบัติ คือ
    • ผ่านการอบรมหลักสูตรผู้ชำนาญการศุลกากร หรือ
    • ผ่านการอบรมหลักสูตรตัวแทนออกของจากสมาคมหรือสถาบันที่กรมศุลกากรรับรองและผ่านการสอบตามที่กรมศุลกากรกำหนด ไม่มีประวัติทำผิดตามกฎหมายศุลกากรอย่างร้ายแรงหรือถูกถอนการอนุญาต

ซึ่งผู้ที่ผ่านการอบรมทั้งสองข้อนั้นต้อง ลงทะเบียนกับกรมศุลกากรไว้ด้วย

บุคลธรรมดา ต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทยและต้องมีคุณสมบัติ

  • ผ่านการอบรมหลักสูตรผู้ชำนาญการศุลกากร หรือ
  • ผ่านการอบรมตัวแทนออกของจากสมาคมหรือสถาบันที่กรมศุลกากรรองรับ และผ่านการสอบตามที่กรมศุลกากรกำหนดและลงทะเบียนกับกรมศุลกากรไว้เช่นกัน

จำเป็นต้องใช้ชิปปิ้งหรือไม่ ขอให้พิจารณาจาก

  • มีความรู้ความเข้าใจในการทำพิธีการศุลกากรเพียงพอหรือไม่ เช่นการจัดทำใบขนสินค้า การหาพิกัดสินค้า การเสียภาษีให้ถูกต้อง การผ่านด่านที่เกี่ยวข้องเป็นต้น
  • ความสะดวกที่ได้รับจากการใช้ชิปปิ้งเทียบกับเวลาที่เสียไปหากต้องทำเอง
  • บริการจากชิปปิ้งสามารถทำให้เราเน้นการทำงานด้านอื่นๆได้สะดวกขึ้นหรือไม่
  • ความยากง่ายในการนำเข้าสินค้านั้นๆ เช่นต้องผ่านด่านหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายด่าน
  • ความสามารถในการแก้ไขปัญหาหากเกิดปัญหา